เรียนรู้วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์การแต่งกายของชาวชวาและศิลปะบนผืนผ้าบาติก ที่นิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ
ใครที่เคยชมนิทรรศการผ้าบาติกที่ Pira Story พาทุกคนไปเที่ยวชมกันเมื่อปีที่แล้ว (คลิกอ่านที่นี่ค่ะ >> https://web.facebook.com/PiraPiraStory/photos/a.468518290490664/468520913823735/ )


นิทรรศการนี้มีทั้งหมด 3 รอบ ตอนนี้ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดแสดงนิทรรศการชุดใหม่ รอบนี้เป็นรอบสุดท้าย โดยนำผ้าบาติกทรงสะสมจากเมืองต่าง ๆ บนเกาะชวาที่มีคุณค่าหาชมได้ยากมาจัดแสดงให้ได้ชมกัน โดยจัดแสดงแบบแยกตามภูมิภาคเพื่อให้เราได้เห็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจของผ้าบาติกในแต่ละภูมิภาค ใครที่ชอบงานศิลปะบนผืนผ้า งานนี้ไม่ควรพลาดเลยค่ะ
::: ความเป็นมาของผ้าบาติกทรงสะสม :::
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จเยือนชวา 3 ครั้ง ในศตวรรษที่ 19 และ 20 โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของชวา ซึ่งการเขียนผ้าบาติกถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่เลื่องชื่อของเกาะชวา จึงทรงซื้อสะสมและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย กว่า 300 ผืน


สำนักพระราชวังเก็บรักษาผ้าบาติกทั้งหมดนี้เอาไว้อย่างดี และไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ใดมาก่อน จนกระทั่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำออกมาทำการศึกษาค้นคว้าและจัดแสดงนิทรรศการ โดยเริ่มจัดแสดงรอบแรกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงครั้งนี้ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายนั่นเองค่ะ
::: เอกลักษณ์ผ้าบาติกจาก 4 ภูมิภาคชวา:::
หากนึกถึงผ้าบาติกเราก็มักจะจินตนาการถึงภาพผ้าบาติกที่มีหน้าตา ลวดลาย สีสัน รวมไปถึงวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละประเทศมีการออกแบบผ้าบาติกที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แตกต่างกัน ผ้าบาติกชวาก็มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคเช่นกัน ก่อนจะไปชมผ่าบาติกสวย ๆ เรามาดูกันก่อนว่าผ้าบาติกแต่ละภูมิภาคของชวานั้นมีความโดดเด่น แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
- ชวากลาง ได้แก่ เมืองเซมารังและเมืองบันยูมาส
นางสาวแคโรลินา โจเซฟินา วอน แฟรงเคอมองต์ เป็นชาวเอเชียเชื้อสายยุโรปคนแรก ๆ ที่เป็นเจ้าของกิจการโรงเขียนผ้าบาติก ซึ่งก่อตั้งใน พ.ศ. 2388 บริเวณที่ลาดเชิงเขาอุงการันในเมืองเซมารัง (เสียชีวิตจากเหตุภูเขาไฟอุงการันระเบิดใน พ.ศ. 2410) โรงเขียนผ้าบาติกของนางวอน แฟรงเคอมองต์ มีความโดดเด่นในด้านการสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ ๆ ซึ่งกลายเป็นลวดลายพื้นฐานของผ้าบาติกชายฝั่งตอนเหนือของเกาะชวาในเวลาต่อมา
ทั้งการตกแต่งลวดลายเรขาคณิตบริเวณหัวผ้าและลายลูกไม้ที่กรอบผ้า การใช้สีเขียวแบบ “แพรงกามอง”(Prankamon) ซึ่งเกิดจากการย้อมสีเหลืองทับลงไปบนสีฟ้า (ในนิทรรศการจัดแสดงผ้าบาติกจากโรงเขียนแห่งนี้ทั้งหมด 5 ผืน)
นางแคธารีนา แคโรลินา แวน ออสตรัม เคยมีกิจการโรงเขียนผ้าบาติกอยู่ที่เมืองเซมารัง ต่อมาในxu พ.ศ.2398 จึงย้ายกิจการมาอยู่ที่เมืองบันยูมาส และทำผ้าบาติกที่ใช้สีเขียวแบบเดียวกับโรงเขียนผ้าของนางวอน แฟรงเคอมองต์
ต่อมาเมื่อนางแวน ออสตรัมเสียชีวิต หลานสาวทั้งสองคนคือนางสาววิลเลมส์ และนางมาเธรอนได้สืบทอดกิจการทำผ้าบาติกต่อ (สันนิษฐานว่ามีผ้าบาติกทรงสะสมจากโรงเขียนของนางมาเธรอน 2 ผืน)
- ชวาตะวันตก ได้แก่ เมืองการุต เมืองทาสิกมาลายา และเมืองจิปีเดส
ผ้าบาติกเมืองการุตขึ้นชื่อในเรื่องการทำสีพื้นสีเหลืองอ่อนเหมือนมะม่วงที่ใกล้จะสุก เรียกว่า “กูมาดิง” (Gumading) และเขียนลายขนาดเล็กซึ่งย้อมด้วยสีแดงอมน้ำตาลและสีน้ำเงิน
เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการย้อมสีทับลงบนอีกสีเพื่อให้ได้สีดำ โดยสีที่อ่อนกว่าจะกระจายตัวออกจากสีหลักเล็กน้อย ทำให้ดูคล้ายเป็นรอยไหม้บริเวณขอบลาย
ผ้าบาติกเมืองทาสิกมาลายา มักย้อมด้วยสีเข้ม และเขียนลวดลายตกแต่งทั่วทั้งผืน นิยมลายแนวทแยงซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชวากลาง
ผ้าบาติกเมืองจิปีเดสย้อมด้วยสีแดง โดยเป็นการผสมผสานระหว่างสีย้อมกับน้ำจากแม่น้ำ ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุอันมีคุณสมบัติเฉพาะตัว แต่ปัจจุบันเกิดปัญหามลพิษทางน้ำ ทำให้น้ำที่ใช้ย้อมสีผ้าบาติกในภูมิภาคนี้มีคุณภาพต่ำจนไม่สามารถย้อมสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมได้
- ชวาชายฝั่งตอนเหนือของชวากลาง ได้แก่ เมืองเปอกาลองงัน และเมืองลาเซ็ม
เมืองเปอกาลองงันและเมืองลาเซ็มตั้งอยู่ในบริเวณชายฝั่งตอนเหนือของชวากลาง เดิมทั้งสองเมืองมีรูปแบบการทำผ้าบาติกคล้ายกัน คือผ้าบาติกที่ย้อมสีแดง (Bang) และสีน้ำเงิน (Biru) เรียกว่าบัง บิรู (Bang Biru)
เมื่อเข้าสู่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา จึงเริ่มทำผ้าบาติกที่มีเอกลักษณ์ของตน
– ผ้าบาติกจากเมืองเปอกาลองงันจะใช้สีหลากหลายกว่าผ้าบาติกจากเมืองลาเซ็ม โดยเมืองนี้มีโรงเขียนผ้าของทั้งชาวจีน ชาวยุโรป ชาวมุสลิมต่างชาติ และชาวชวา ลวดลายได้รับอิทธิพลมาจากราชสำนักชวากลาง ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมืองเปอกาลองงันมีโรงเขียนผ้าบาติกของชาวชวาเชื้อสายยุโรป และชาวเอเชียเชื้อสายยุโรปที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ได้แก่ โรงเขียนผ้าของนาง เอ. เจ. เอฟ. ยานส์ ชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการลงลายมือชื่อลงบนผ้าบาติกใน พ.ศ. 2412 ผ้าบาติกจากโรงเขียนแห่งนี้มักมีลวดลายดอกไม้ เนื่องจากนางยานส์ชื่นชอบดอกไม้มาก ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์คือลายช่อดอกไม้โทนสีพาสเทล ผสมผสานกับกรอบลายและหัวผ้าสีแดงสด (ในนิทรรศการมีผ้าบาติกที่มาจากโรงเขียนของนางยานส์ 9 ผืน สันนิษฐานว่าทรงซื้อจากพ่อค้าที่มาจากเมืองเปอกาลองงัน ระหว่างประทับ ณ เมืองบันดุง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2444)
– ผ้าบาติกจากเมืองลาเซ็ม นิยมย้อมสีแดงเข้ม หากต้องการมากกว่าหนึ่งสี มักย้อมสีแดงเป็นสีแรกแล้วตามด้วยสีอื่น เช่น ผ้าที่ย้อมสีแดง (Bang) สีน้ำเงิน (Biru) และสีม่วง (Ungon) เรียกว่า บัง บิรู อูงัน (Bang Biru Ungon) เจ้าของโรงเขียนผ้าส่วนใหญ่เป็นชาวชวาเชื้อสายจีน ที่มีช่างเขียนเป็นชาวชวา จึงเน้นทำผ้าที่มีลวดลายตามความเชื่อหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของชาวจีน
- ชวาตะวันตก ได้แก่ เมืองจิเรบอน และเมืองอินดรามายู
เมืองจิเรบอนและเมืองอินดรามายูถือเป็นเมืองศูนย์กลางการทำผ้าบาติกที่สำคัญแห่งหนึ่งในแถบชวาตะวันตก เมืองจิเรบอนเป็นเมืองท่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการติดต่อค้าขายกับจีนมากเป็นพิเศษ จึงมีโรงเขียนผ้าที่มีเจ้าของเป็นชาวจีนและชาวชวาเชื้อสายจีนอยู่หลายแห่ง
ผ้าบาติกของเมืองจิเรบอน มักมีพื้นหลังสีอ่อน ส่วนลวดลายย้อมด้วยสีเข้ม ได้แก่ สีแดงและสีน้ำเงิน (รวมทั้งสีม่วงเข้ม) หรือสีน้ำตาลและสีน้ำเงิน
ผ้าบาติกจากเมืองอินดรามายูมีทั้งแบบที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เปอร์เซีย และจีน รวมทั้งแบบดั้งเดิมซึ่งนิยมเขียนลายเรขาคณิต มักจับคู่สีแดงและสีขาว หรือสีน้ำเงินและสีขาว ลวดลายของผ้าบาติกเมืองอินดรามายูมีลักษณะใกล้เคียงกับผ้าของเมืองจิเรบอน ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางราชสำนัก แต่ฝีมือการเขียนผ้าไม่ละเอียดประณีตเท่า
(ช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนชวาตะวันตก ผ้าบาติกเมืองจิเรบอนยังทำโดยช่างผู้ชาย แต่ที่เมืองอินดรามายู ช่างเขียนผ้าบาติกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง)
- ชวากลาง ได้แก่ เมืองยอกยาการ์ตา และเมืองสุราการ์ตา
ผ้าบาติกในแถบชวากลางแบ่งได้เป็นบาติกในราชสำนักและบาติกที่ใช้ทั่วไป
– ผ้าบาติกในราชสำนัก มีการใช้วัตถุดิบคุณภาพดีในการผลิต และใช้แรงงานฝีมือชั้นยอดเขียนลายที่บังคับใช้ตามลำดับชั้นยศของผู้สวมใส่
– ผ้าบาติกทั่วไป มีการใช้ผ้าคุณภาพดีและลวดลายคล้าย ๆ ราชสำนัก แต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อให้ไม่ผิดต่อกฎข้อห้ามในการสวมใส่
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ผ้าบาติกเป็นที่นิยมมากขึ้น จึงทำให้มีการผลิตผ้าบาติกครั้งละจำนวนมาก เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ้าบาติกชนิดนี้เรียกกันว่า ซูดาการัน (Batik Sudagaran) หรือผ้าบาติกเพื่อการค้า มักใช้สีเคมีย้อมหรือใช้แม่พิมพ์ในการผลิตเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการทำ
ผ้าบาติกจากราชสำนักยอกยาการ์ตาและสุราการ์ตามีความคล้ายคลึงกันมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
– ผ้าจากสุราการ์ตาจะมีพื้นสีเหลือง เฉดสีน้ำเงินของบาติกสุราการ์ตาจะมีสีเข้มกว่าของยอกยาการ์ตา เฉดสีน้ำตาลของสุราการ์ตาจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง พื้นหลังมักจะเขียนลายเล็กๆ ตกแต่งทั่วทั้งผืน โดยราชสำนักสุราการ์ตานิยมลายเซเมน
– ผ้าจากยอกยาการ์ตาพื้นเป็นสีขาว เฉดสีน้ำตาลแบบยอกยาการ์ตาจะมีสีเข้มเหมือนชอกโกแลตหรืออาจมีหลายเฉดตามวัสดุธรรมชาติที่นำมาย้อม พื้นหลังนิยมเขียนลายขนาดใหญ่และปล่อยพื้นหลังให้โล่ง โดยราชสำนักยอกยาการ์ตานิยมลายเรขาคณิต
::: ผ้าบาติกผืนไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดชม :::
- ผ้านุ่ง (โสร่ง) แบบบัง บิรู อูงัน จากเมืองลาเซ็ม
เอกลักษณ์ของผ้าบาติกเมืองลาเซ็ม คือ เป็นผ้าบาติกั้ย้อมด้วยสีแดง สีน้ำเงิน และสีม่วง มีลวดลายดอกไม้ เถาวัลย์ และนกซึ่งสื่อความอุดมสมบูรณ์ เป็นผ้านุ่งที่ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าสตรีเชื้อสายจีนและยุโรป โดยลายเถาไม้ที่เลื้อยขึ้นมาจากด้านล่างจะมีลักษณะคล้ายลายสาหร่าย (กังเกง) ซึ่งลายแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากลูกไม้ของฝั่งยุโรป

- ผ้านุ่ง (กายน์ ปันจัง) จากเมืองสุราการ์ตา
ผ้าบาติกที่ตกแต่งด้วยลายปาสแรน หรือลายแม่โพสพ ลายร่มสื่อการคุ้มครองป้องกัน และลายพัดสื่อถึงความสงบสุข

- ผ้าโพกศีรษะ (อิแกต เคพาลา)
เป็นผ้าโพกศีรษะสำหรับผู้ชาย จึงออกแบบให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยผ้าโพกศีรษะที่น่าสนใจในนิทรรศการนี้มี 2 ผืน คือ ผ้าโพกศีรษะจากเมืองยอกยาการ์ตา เขียนลายโมดัง ซึ่งเป็นลายที่มีลักษณะคล้ายเปลวเพลิงล้อมรอบบริเวณขอบผ้า และมีป้ายคำอธิบายระบุว่า “ผ้าชื่อ โมดัง ราคา 10 กิลเดอ(ร์)” และผ้าที่พิจารณาจากสีสันและลวดลายแล้วสันนิษฐานว่าผลิตที่เมืองจิเรบอน บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของชวาเพื่อขายให้ลูกค้าที่เมืองจัมบีบนเกาะสุมาตรา
- ผ้านุ่ง (โสร่ง) โรงเขียนผ้าของนางแวน ลาวิก แวน แพบสต์ จากเมืองยอกยาการ์ตา
โรงเขียนผ้าแห่งนี้ชื่อเสียงเรื่องฝีมือการย้อมครามที่สวยงามและเขียนลวดลายละเอียดประณีต ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โรงเขียนหลายแห่งในพื้นที่ชายฝั่งตอนเหนือของชวากลางนิยมเขียนลายทแยงบริเวณหัวผ้า ส่วนท้องผ้าเขียนลายช่อดอกไม้ และบริเวณเชิงผ้าได้รับแรงบันดาลใจมาลวดลายของผ้าลูกไม้แบบยุโรป

- ผ้านุ่ง (โสร่ง) จากเมืองสุราการ์ตา
เขียนลายไก่ฟ้าและลายดอกไม้ขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลในการวางโครงสร้างมาจากลายต้นไม้แห่งชีวิตที่ปรากฏบนผ้าพิมพ์อินเดียในศตวรรษที่ 17-18 สันนิษฐานว่าผ้าผืนนี้เป็นผ้าบาติกซูดาการัน หรือผ้าบาติกที่ผลิตมาเพื่อขายทั่วไปตามท้องตลาด ทั้งในเมืองสุราการ์ตาและเมืองอื่น ๆ ของชวา

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “ด้วยพลังแห่งรัก” ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2562 เป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ นับตั้งแต่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี เมื่อพุทธศักราช 2473 เป็นต้นมา เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 – 2565 ซึ่ง Pira Story เคยพาทุกคนไปเที่ยวชมกันมาแล้ว สามารถคลิกชมได้ที่ https://web.facebook.com/PiraPiraStory/photos/a.363932584282569/363932787615882/ ค่ะ








ความพิเศษของนิทรรศการในครั้งนี้คือ มีการเปลี่ยนฉลองพระองค์จัดแสดงล่าสุด 1 องค์ ได้แก่ “ฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย” ซึ่งทรงเป็นแบบในการฉายพระฉายาลักษณ์ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงในโอกาสให้การต้อนรับสมเด็จพระจักรพรรดิไฮเลเซลาสซีที่ 1 แห่งเอธิโอเปียระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 1-4 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ค่ะ

หลังจากเดินชมนิทรรศการเสร็จแล้ว แวะมาช็อปปิ้งสินค้าที่น่าสนใจ ที่ร้านพิพิธภัณฑ์กันต่อได้ มีสินค้าหลากหลายชนิดที่นำไฮไลต์ที่น่าสนใจในนิทรรศการมาออกแบบเป็นสินค้าที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันหรือจะนำติดไม้ติดมือไปฝากคนที่เรารักก็เหมาะมากค่ะ
::: ข้อมูลก่อนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ :::
- พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและสุขอนามัยสำหรับผู้เข้าชมอย่างเคร่งครัด ตามมาตรฐาน SHA Plus โดยเจ้าหน้าที่ให้บริการทุกคนต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด
- รถส่วนตัวสามารถจอดที่บริเวณสนามหลวง
- รถโดยสารสาธารณะ ให้ลงบริเวณท่าช้างหรือมหาวิทยาลัยศิลปากร เดินเข้าซอยพระยาเพชร ผ่านจุดคัดกรองบริเวณสนามหลวง ตรงข้ามประตูมณีนพรัตน์ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ ตรวจจับโลหะและวัตถุต้องห้าม ตรวจค้นสัมภาระ ลงทะเบียน เพื่อเข้าพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตูวิเศษไชยศรี ด้านข้างหอรัษฎากรพิพัฒน์ แล้วจึงค่อยเดินมายังบริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ
- ก่อนเข้าพิพิธภัณฑ์ มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจหลักฐานการฉีดวัคซีน หรือหลักฐานการตรวจ covid – 19 เดินผ่านพรมน้ำยาฆ่าเชื้อ และตอบแบบสอบถามออนไลน์เพื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับติดต่อกลับในกรณีพบผู้ติดเชื้อ ที่บริเวณหน้าเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ
ใครที่กำลังมองหาที่เที่ยวที่ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน แถมยังเดินทางสะดวก ใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่ Pira Story ประทับใจ และแนะนำให้ทุกคนมาเที่ยวชมค่ะ
————————————
ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Pira Story ได้ที่
- Facebook: https://www.facebook.com/PiraPiraStory/
- Twitter: https://twitter.com/PiraPira_Story
- Instagram: https://www.instagram.com/pirapirastory/
- Blog: https://pirastory.com/
One thought on “พาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เรียนรู้ประวัติศาสตร์การแต่งกายของชาวชวาและศิลปะบนผืนผ้าบาติก ที่นิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา””