ความลับของโครงกระดูก (Skeleton’s Secrets) ศึกษากายวิภาคสัตว์ ที่พิพิธภัณฑ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิทรรศการ “ความลับของโครงกระดูก” (Skeleton’s Secrets) นิทรรศการที่ผสมผสานระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ใครที่เคยชมนิทรรศการกายวิจิตรที่พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยมาดองใสและย้อมสีกระดูกเพื่อใช้ศึกษาโครงสร้างภายในของสัตว์ต่าง ๆ แล้วยังติดใจอยากดูอีก
ครั้งนี้สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิทรรศการใหม่มาให้ทุกคนได้ชมกันแล้วค่ะ
นิทรรศการ “ความลับของโครงกระดูก” เป็นการจัดแสดงโครงกระดูกของสัตว์น้อยใหญ่ตั้งแต่ ปลานิล เต่านา งู นกแสก แมวบ้าน ค่าง หมูหริ่ง ไปจนถึงแรดชวา ขนมาให้ชมอย่างจุใจเต็มห้องจัดแสดงเลยทีเดียว
นิทรรศการนี้จะนำกระดูกสัตว์ต่าง ๆ มาเรียงร้อยต่อกัน เพื่อใช้ศึกษาโครงสร้าง การทำงาน และเพื่อให้สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นได้อย่างชัดเจนค่ะ
นิทรรศการนี้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย เข้าชมฟรีค่ะ แวะมาชมกันเยอะๆนะคะพิระชอบตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เลยค่ะ เพราะด้านทางเข้ามีหัวกระโหลกแรดในโครงเหล็กยืนต้อนรับผู้เยี่ยมชมทุกคนอยู่ค่ะ
เหยี่ยวแดง (Brahminy Kite)
ภาพด้านล่างนี้คือภาพกระดูกของนกเหยี่ยวแดง ซึ่งเป็นนกขนาดกลาง ขนาดลำตัวประมาณ 40 – 46 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะเหมือนกัน คือ มีขนสีน้ำตาลแดงหัว คอ และหน้าอกมีสีขาว และมีลายสีดำเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป เวาบินจะเห็นหางกางออกค่อนข้างกลม มีปากแหลมคมสีเทา และขาสีเหลือง
เราพบเหยี่ยวแดงได้ที่ประเทศอินเดีย จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และทวีปออสเตรเลีย พบได้ทุกภาคในประเทศไทย
นกแสก (Barn Owl)
นกแสกเป็นนกที่หากินในเวลากลางคืน มีใบหน้ารูปหัวใจ มีดวงตาขนาดใหญ่ที่ด้านหน้าของหัว คอสั้น ปีกยาว หางค่อนข้างสั้น ขาและนิ้วแข็งแรง มีขนขึ้นปกคลุมแข้งจนเกือบถึงนิ้ว
กระรอกหลากสี (Finlayson’s squirrel, Variable squirrel)
กระรอกหลากสีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จัดเป็นสัตว์จำพวกหนู (Rodent) ชนิดหนึ่ง เป็นกระรอกขนาดกลางมีความหลากหลายของสีสูงมาก โดยมากจะเป็นสีขาวครีมปนเหลืองอ่อนจนถึงสีแดงหรือสีดำทั้งตัว หรือบางตัวอาจมีหลายสีในตัวเดียวกัน มีขนค่อนข้างยาวและดูฟูกว่ากระรอกปลายหางดำ (C. caniceps) และกระรอกสวน (C. erythraeus) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จะมีขนแน่นและสั้นกว่า
ด้วยความหลากหลายทางสีสันและความกว้างขวางในพื้นที่กระจายพันธุ์ จึงทำให้กระรอกหลากสีมีชนิดย่อยมากถึง 16 ชนิดเลยค่ะ
ค่าง (Langur หรือ Leaf Monkey)
ค่างเป็นสัตว์ในกลุ่มลิงแต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากลิงในวงศ์อื่น ๆ คือ มีรูปร่างที่เพรียวบางกว่า ขาทั้ง 4 ข้างเรียวยาวกว่า มีนิ้วโป้งสั้นกว่า มีหางที่ยาวกว่า และมีขนยาวกว่า ระบบย่อยอาหารของค่างสามารถย่อยพืชได้ดี เป็นที่มาของชื่อสามัญคือ Leaf Money นั่นเองค่ะ
อาหารหลักของค่าง คือ ใบไม้ ยอดไม้ และผลไม้ หากินเป็นฝูง ค่างส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนต้นไม้ มีบางชนิดที่หากินบนพื้นดินเป็นหลัก
เต่านา (Malayan snail-eating turtle)
เต่านาเป็นเต่าน้ำจืดขนาดเล็ก กระดองส่วนบนมีสีน้ำตาล มีสันนูน 3 เส้นเห็นได้ชัดเจน และมีขอบเรียบสีครีมหรือสีเหลือง กระดองส่วนล่างมีสีเหลือง และแต้มสีดำบนแผ่นเกล็ด หัวขนาดใหญ่มีลายเส้นสีเหลืองหรือสีขาว หน้าและจมูกมีลายเส้นขีดสีขาว ผิวสีน้ำตาลเทาหรือดำ
เราพบเต่านาได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำของภูมิภาคอินโดจีนและแหลมมลายู ทั้งในนาข้าว สวนสาธารณะ ท้องร่อง หรือสวนผลไม้ พื้นที่การเกษตรทั่วไป เป็นต้น
น้องเต่านากินหอยเป็นอาหารหลักค่ะ ทั้งหอยฝาเดียวและหอยสองฝา แต่ก็สามารถกินสัตว์น้ำชนิดอื่นเป็นอาหารได้ด้วย
ปลากะรัง หรือ ปลาเก๋า (Brown Spotted Grouper หรือ Esstaury Grouper)
เห็นตัวนี้แล้วรู้สึกคุ้น ๆ กันไหมคะ เพราะนี่คือ “ปลาเก๋า” ที่เราเคยรับประทานกันนั่นเองค่ะ ปลาเก๋าเป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร มีลำตัวยาวป้อม แบนข้างเล็กน้อย มีเกล็ดขนาดเล็ก สีตามตัวและครีบเป็นดอกดวง แต้ม หรือบั้ง ส่วนสีจะดูฉูดฉาดหรือคล้ำทึบนั้นขึ้นอยู่กับชนิดค่ะ
หากเราลองดูที่ครีบหลังของปลาเก๋า จะเห็นว่าครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรก (ส่วนที่อยู่ชิดโคน) เป็นก้านครีบแข็ง ตอนหลังเป็นครีบอ่อน มีลักษณะโปร่งใส มีเกล็ดขนาดเล็กทั้งแบบเรียบและแบบสาก ปากกว้าง
ความพิเศษของเจ้าปลาเก๋านี้คือมันสามารถเปลี่ยนเพศได้ด้วยค่ะ โดยจะเข้าสู่ตัวเต็มวัยเมื่อมีอายุประมาณ 3 ปี และมีน้ำหนักตัวประมาณ 3 กิโลกรัม ในระยะนี้จะเป็นตัวเมียทั้งหมด เมื่อเติบโตจนมีน้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัมจึงจะเปลี่ยนเป็นเพศผู้ค่ะ
นก (Bird)
นกมีวิวัฒนาการมานานหลายล้านปีเพื่อให้สามารถบินในอากาศได้ โดยการพึ่งพาปีกซึ่งพัฒนามาจากขาหน้า มีกระดูกที่กลวงเป็นโพรงเพื่อให้มีน้ำหนักเบา สามารถลอยตัวในอากาศได้ง่าย โดยภายในโพรงจะมีก้านกระดูกที่ทำหน้าที่ค้ำจุนเพิ่มความแข็งแรงด้วยค่ะ
กระต่ายยุโรป (Rabbit)
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก มีขนปุกปุยทั่วทั้งตัว มีหางกลมสั้น และมีใบหูยาวเมื่อเทียบกับสัตว์อื่นซึ่งวิวัฒนาการมาเพื่อช่วยเสริมการฟังให้ดียิ่งขึ้น นอกจากจะหูดีแล้ว ยังมีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นที่ดีมากด้วยค่ะ
กระต่ายยุโรปมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปยุโรป ปัจจุบันมักจะถูกนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลองในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
ค้างคาวเล็บกุด (Dawn Bat, Cave Fruit Bat)
ค้างคาวเล็บกุดจัดเป็นค้างคาวกลุ่มกินผลไม้ (Megachiroptera) มีขนาดเล็กมาก โดยมีความยาวประมาณ 90-130 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 35 – 82 กรัม ตาโต จมูกยาวเรียว ปีกมีพังผืด (patagium) สีน้ำตาลเข้ม มีจุดสีเหลืองบริเวณข้อต่อของกระดูกนิ้วต่าง ๆ รวมถึงใบหูด้านหน้าด้วยค่ะ ด้านบนของลำตัวมีสีน้ำตาล ด้านล่างสีเทา คอหอยมีขนปกคลุมเล็กน้อยและอ่อนกว่าบริเวณอื่น
เราพบค้างคาวเล็บกุดได้ที่ประเทศจีน อินเดีย บังกลาเทศ คาบสมุทรอินโดจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยอาศัยอยู่ตามถ้ำ ป่า สวน ทุ่งนา กินผลไม้และน้ำหวานจากเกสรดอกไม้
ค้างคาวเล็บกุดจึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ด้วยการช่วยผสมเกสรดอกไม้ของผลไม้หลายชนิดครอบคลุมพื้นที่กว่า 40 กิโลเมตรรอบถ้ำที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจของภาคใต้มากกว่า 10 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นสะตอ ลูกเหรียง ทุเรียนบ้าน ทุเรียนพันธุ์ ชมพู่ กล้วย และไม้ลำพู เป็นต้น
จระเข้น้ำจืด หรือ จระเข้บึง (Siamese Crocodile)
จระเข้น้ำจืดมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กาลิมันตัน ชวา และสุมาตราเป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนมาทางใหญ่ มีลำตัวยาวประมาณ 3 – 4 เมตร กินปลาและสัตว์อื่นที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร
ภายในงานนอกจากโซนโครงกระดูกที่นำมาจัดเรียงเป็นท่าทางต่างๆ แล้ว ยังมีโซนที่ให้ผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสกับโครงกระดูกอย่างใกล้ชิดด้วยค่ะ แต่ต้องสัมผัสอย่างเบามือนะคะไม่อย่างนั้นอาจเกิดการแตกหักได้ค่ะ
แล้วก็ของที่ระลึกน่ารักๆ อย่างถุงผ้าและกาชาปองค่ะ เป็น Pin แม่เหล็กน้องแมวแบบ X-Ray กับตุ๊กตุ่นโครงกระดูกคนค่ะ น่ารักมากเลย
พอมองไปเห็นตู้กาชาปองปุ๊บ ก็รู้ได้ทันทีเลยว่า เราต้องไม่พลาดแน่นอน!
กาชาปองน่ารักมากค่ะ ลูกละ 30 บาท มีทั้งหมด 10 แบบให้สะสม แบ่งออกเป็น
- เข็มกลัดเหล็ก X-ray 6 แบบ ได้แก่ กระต่าย แมวกินปลา นก แมวเดิน แมวนอนขด และแมวตกใจ
- ตุ๊กตุ่นยางนุ่มนิ่ม รูปโครงกระดูกคน สีเขียว ชมพู ส้ม และเหลือง
ก่อนหมุนก็อย่าลืมอธิษฐานขอตัวที่อยากได้กันสักหน่อยค่ะ 55555555 ทำทุกทุกวิถีทางแล้วจริง ๆ ขอน้องแมวให้พิระสักตัวเถอะนะคะ
ใช้เหรียญสิบหยอดลงไปเลยค่ะ ถ้าไม่มีเหรียญก็ไม่ต้องกังวลนะคะ นำเงินไปแลกกับพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ที่ห้องกระจกได้เลยค่ะ
ได้ออกมาแล้วค่ะลูกแรก ได้น้องแมวจริงๆด้วย กรี๊ดดดด
ผลประกอบการวันนี้ พิระได้เข็มกลัดน้องแมวนอนขด 1 ตัว กับตุ๊กตุ่นสีส้มสดใส 1 ตัวค่ะ
- วันและเวลาเข้าชม: เปิดวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00 – 16.30 น. ปิดให้บริการวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 – 22 กุมภาพันธ์ 2564
- สถานที่: ห้องนิทรรศการหมุนเวียนชั้น 1 พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- แผนที่: https://goo.gl/maps/Xvf1B469MJToPjcV9
- ชมฟรี ไม่เสียค่าเข้าชม
ที่พลาดไม่ได้เลยคือ วันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกิจกรรม Nigth at the Museum 2020 ที่เปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่เวลา 9.00 – 22.00 น. มาชมโครงกระดูกตอนกลางคืนก็น่าจะได้ฟีลไปอีกแบบนึงนะคะพิระว่า
ติดต่อสอบถามได้ที่ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-218-3645-6
นั่งรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสยาม หรือ จอดรถได้ที่ อาคารมหาจักรีสิรินธร แผนที่: https://goo.gl/maps/8Ui2jRih46Bu7Dms7 ค่าบริการชั่วโมงละ 15 บาทค่ะ




One thought on “ความลับของโครงกระดูก (Skeleton’s Secrets) ศึกษากายวิภาคสัตว์ ที่พิพิธภัณฑ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”